Wake Me Up When Now Ends – อนาคตคือเมื่อวาน อดีตกาลคือพรุ่งนี้ โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ทุกๆ วินาทีที่ผ่านไปกลายเป็นอดีต เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ล้ำหน้า แป๊บๆ ก็ล้าหลังซะแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งที่ดูห่างไกลและที่ดูใกล้ชิดกับเรา ชนิดที่ต้องเปิดใช้งานมันทุกวัน ผิวเผินอาจไม่นึกว่าอ่านไปแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับเรา แต่เชื่อเถอะ บทความจำนวนนึงในนี้ คงทำให้คุณฉุกคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของเราให้มีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้มันเป็นภัยร้ายต่อคุณได้อย่างไรบ้าง

เคยรีวิวไปแล้วเล่มนึงคล้ายๆ กันค่ะ นานมากแล้ว ชื่อหนังสือ วันพรุ่งนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยผู้เขียนคนเดิม

ส่วนตัวเป็นคนชอบเรื่องเทคโนโลยี เรื่องวิทยาศาสตร์อะไรทำนองนี้ ฝันอยากทำงานด้านนี้ด้วยค่ะ เด็กๆ มีหนังสือประเภทนี้เยอะเลย แต่ไม่รู้ทำไมเลือกเรียนสายศิลป์-คำนวณ ก็เลยไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ตอนนี้ทำได้แค่ติดตามข่าวสาร และใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้แทนแล้วกัน

แม้ไม่ค่อยเล่นเฟสบุ๊ค เปิดใช้งานบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็มีเพื่อนที่ใช้งานมันอยู่ทุกวัน และบางครั้งก็อาจเสพข่าวสารจากมันแบบผิดๆ ก็ได้ เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าสิ่งที่แสดงใน New feed เป็นสิ่งที่จงใจแสดงให้เราเห็นหรือเปล่า มีการวิจัยของเฟสบุ๊ค ทดลองผู้ใช้เกือบเจ็ดแสนคนแล้วแบ่งเป็นสองกลุ่ม ระหว่างกลุ่มที่แสดงแต่ข้อความที่เป็นเชิงบวก เฮฮา ปาร์ตี้ กับอีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกแสดงเนื้อหาในเชิงลบ อกหัก รักคุด เบื่องาน เบื่อหัวหน้า อะไรทำนองนี้ ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่ได้รับข้อความในเชิงบวก ก็จะมีแนวโน้มโพสข้อความในเชิงบวก แล้วกลุ่มคนที่ได้รับแต่เรื่องลบๆ ก็จะโพสข้อความในเชิงลบไปด้วย แปลว่าอารมณ์มันออสโมซิสกันได้เนอะ

ขั้นตอนวิธีการเลือกแสดงเนื้อหาในเฟสบุ๊ค ก็คือการใช้อัลกอริทึมอย่างหนึ่ง เหมือนเวลาเราใช้ google เพื่อ search หาข้อมูลที่เราสนใจ โปรแกรมก็จะ match เนื้อหาให้ตรงกับความสนใจของเรา แล้วแสดงบนหน้าจอของเรา เฟสบุ๊คก็ใช้ trick นี้เพื่อให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลินอยู่กับโพสที่ตัวเองสนใจ คนที่ตัวเองติดตาม จะได้ใช้งานนานๆ เฟสบุ๊คก็มีโอกาสขายโฆษณาได้อะไรประมาณนี้ค่ะ การใช้อัลกอริทึมเพื่อควบคุมชีวิตเรานั้นฝังตัวอยู่หลายๆ แห่ง โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวค่ะ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการแสดงแต่ผลที่เราสนใจนั้น มันเป็นเรื่องดี? อย่างนี้เราจะมีโอกาสรับรู้ข้อมูลอีกด้านที่เราไม่สนใจหรือเปล่า?

ยกตัวอย่างมาแค่เรื่องเดียวเองค่ะ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเยอะเลย ลองหาอ่านดูนะคะ

Leave a comment